เรา ผู้หญิงแรงงานและแรงงานข้ามชาติ ผู้หญิงชาติพันธุ์/ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง ผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ผู้หญิงที่เป็นพนักงานบริการ ผู้หญิงที่มีสถานะไร้สัญชาติ ผู้หญิงสูงอายุ เด็กและเยาวชนหญิง ผู้หญิงชนบทในภาคเกษตร ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและที่ยุติการตั้งครรภ์ ผู้หญิงพิการ เฟมมินิสต์ ผู้หญิงที่ต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย และผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิในที่ดิน สิทธิในการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายพันธมิตรทั้งหลายที่ลุกขึ้นมาสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ฯลฯ

เราเห็นความสำคัญของการรณรงค์ให้สังคมตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง เราจึงขอเชิญชวนทุกคนที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและข้อเรียกร้องของพวกเรา ให้หยุดทำงานและออกมาร่วมเดินขบวน ร้องเพลงและลุกขึ้นมาเต้นเพื่อยุติความรุนแรงทางเพศ เราออกมาแสดงพลังกันในวันที่ 8 มีนาคม 2563 เพื่อระลึกถึงที่มาของวันสตรีสากล การต่อสู้ของผู้หญิงในประวัติศาสตร์โลกและชุมชน และแสดงให้สังคมรู้ว่า ถ้าผู้หญิงหยุด โลกก็หยุด

จากการทำงานของเครือข่าย เราพบสถานการณ์การกีดกัน เลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในหลายรูปแบบ ซึ่งนี่เป็นความรุนแรงอันมีรากฐานมาจากเพศภาวะ และเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง อาทิ

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเผชิญกับการถูกใช้กฎหมายฟ้องเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation : SLAPP) การข่มขู่ การคุกคามทางเพศ การถูกดูหมิ่นเหยียดหยามและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเป็นระบบ

ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองถูกละเมิดสิทธิที่ดิน สิทธิชุมชน และสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร เยาวชน ชนเผ่าพื้นเมืองเสี่ยงที่จะถูกการบังคับแต่งงาน ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองที่ไม่มีสัญชาติ เข้าไม่ถึงสิทธิพลเมืองและการไม่มีสิทธิทางการเมือง เช่น ไม่สามารถเลือกตั้งได้

ผู้หญิงพิการเข้าไม่ถึงการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรี คือ ปริญญาโทและปริญญาเอก ตามพระราชบัญญัติการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 หรือเข้าไม่ถึงการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อการศึกษาแก่คนพิการในระดับสูงตามความต้องการ   และเข้าไม่ถึงโอกาสในการทำงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ.2550 ซึ่ง มาตรา 34 ได้สร้างช่องว่างการทางกฎหมายที่อาจกีดกันผู้หญิงพิการ  นอกจากนี้ ยังเข้าไม่ถึงเบี้ยความพิการแบบถ้วนหน้า 1,000 บาทอย่างเท่าเทียมอีกด้วย

หญิงรักหญิง หญิงรักสองเพศ และหญิงข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสงออกทางเพศ (SOGIE) นำไปสู่การถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษา การถูกบังคับแต่งกายตามเพศกำเนิด การเข้าไม่ถึงสิทธิในการแต่งงานเท่าเทียม (Marriage Eqaulity) การเข้าไม่ถึงกฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้าให้สอดคล้องกับเพศสภาพ การถูกข่มขืนถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศในผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ (Corrective Rape) 

ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการทางสังคมที่เป็นธรรม เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเพราะขาดการแปล ไม่มีสถานที่พักพิง (Safe House) เมื่อถูกกระทำความรุนแรงหรือจำเป็นต้องพักรักษาตัว รวมถึงลูกของแรงงานข้ามชาติเอง ก็ยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม

ผู้หญิงพนักงานบริการยังถูกมองว่ามีสถานะที่ผิดกฎหมายบนฐานของการทำงาน ถูกมองเป็นอาชญากรและเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติทางสังคม รวมถึงในทางกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 

ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และผู้หญิงทุกอัตลักษณ์ชายขอบ ทุกช่วงวัย รวมถึงผู้หญิงสูงอายุ ผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับ HIV เผชิญกับการเข้าไม่ถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และเข้าไม่ถึงการให้บริการส่งเสริมสุขภาพ ที่ไม่เลือกปฏิบัติและตีตรา

ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เมื่อเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว เมื่อถูกข่มขืน คุกคามทางเพศและเมื่อถูกคุกคามในพื้นที่ออนไลน์และอินเตอร์เน็ต

ในภาวะฉุกเฉินและภาวะวิกฤต เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน และการระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) รวมถึงภาวะการสู้รบสงคราม ผู้หญิงเผชิญภาวะฉุกเฉินและภาวะวิกฤตเหล่านั้น ไปพร้อมกับเผชิญกับความรุนแรง ความไม่เป็นธรรมทางเพศอย่างซับซ้อน แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา และการผลักดันเชิงนโยบาย ผู้หญิงยังไม่ถูกมองเห็นและขาดการมีส่วนร่วม

ประเด็นปัญหาของผู้หญิงเหล่านี้มีรากฐานมาจากระบบอำนาจนิยม ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ระบบวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่และ Fundamentalism ซึ่งถูกหล่อหลอมและปลูกฝังผ่านการทำงานของกลไกของสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันทางการเมืองฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตของผู้หญิงทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกอัตลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงชายขอบ

จากสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงดังกล่าวข้างต้น เราขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนของสังคมมาร่วมกันสนับสนุนแผนปฏิบัติการของเรา ดังต่อไปนี้

  1. สนับสนุนการเข้าถึงทรัพยากร อำนาจ และโอกาสทางสังคมอย่างเป็นธรรมให้กับผู้หญิงทุกกลุ่ม
  2. เสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้หญิงในทุกระดับ เพื่อให้ผู้หญิงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่มีฐานคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมยุติธรรมทางเพศ เพื่อสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ยั่งยืน
  3. สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมืองของผู้หญิงในทุกระดับ รวมถึงการมีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ค่าPM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน และการระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) รวมถึงภาวะการสู้รบสงคราม
  4. ร่วมกันสร้างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมยุติธรรมทางเพศและทางสังคม อย่างเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหา ตั้งแต่ระดับชุมชน ประเทศ ไปจนถึงระดับภูมิภาคและนานาชาติ
  5. ส่งเสริมบทบาทของสื่อ ในการสร้างการสื่อสารมิติสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง และผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างรอบด้าน โดยต้องยุติการตีตราและการผลิตซ้ำภาพเหมารวมต่อผู้หญิง ที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานเพศภาวะและอัตลักษณ์ที่ซับซ้อน เพื่อส่งเสริมให้สังคมเข้าใจสภาพปัญหาและเห็นความเข้มแข็งของผู้หญิงและเข้ามามีส่วนร่วมกันรื้อถอนมายาคติและอคติทางเพศทั้งในระดับปัจเจกและในเชิงสถาบันโครงสร้างสังคม
  6. ผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและกฎหมาย ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยและส่งเสริมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงส่งเสริมการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนผู้หญิง ด้วยกลไกสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW)ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UN DRIP) แผนปฏิบัติการปักกิ่ง (Beijing+25) กระบวนการ UPR (Universal Periodic Review: UPR) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta principles) และอื่น ๆ ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามและที่ยังไม่ได้ลงนาม ให้ความร่วมมือต่อภาคีระหว่างประเทศ
  7. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและชุมชน ต่อกระบวนการติดตาม ตรวจสอบ และแก้ไขให้รัฐบาลไทยนำหลักการสิทธิมนุษยชนและมุมมองด้านเพศภาวะมาใช้อย่างจริงจัง โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและผู้หญิงที่มีความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมทางเพศ ยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายอย่างสันติ เป็นธรรม และยั่งยืน

ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงเป็นยุทธวิธีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม กฎหมายและนโยบาย วันสตรีสากลจึงไม่ใช่เพียงโอกาสให้ผู้หญิงมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองกัน แต่เป็นโอกาสให้ผู้หญิงลุกขึ้นประท้วงกับสังคมและรัฐเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียม สังคมและรัฐต้องมีความตระหนักว่าสิทธิของผู้หญิงทุกคน คือ สิทธิมนุษยชน