จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน และรัฐบาลไทยได้ออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563  

ทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือเห็นถึงความสำคัญของการใช้เงินกู้เพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จึงได้จัดประชุมระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการเยียวยาและการฟื้นฟู ทั้งนี้เพื่อให้การใช้เงินกู้อย่างเกิดประสิทธิภาพ และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศ โดยมีข้อเสนอดังนี้

ข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงาน

ข้อที่ 1 ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดให้มีการอบรมอาชีพที่เหมาะสม ให้กับแรงงานทุกภาคส่วนทั้งแรงงานไทย แรงงานผู้สูงอายุ แรงงานผู้พิการ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ  โดยระหว่างที่อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีค่าเบี้ยเลี้ยงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลังจากที่จบการอบรมแล้วให้ออกใบรับรองการผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปใช้ในการปรับค่าจ้างตามระดับการพัฒนาฝีมือแรงงาน

ข้อที่ 2 ให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานจัดทำโครงการสำรวจข้อมูลแรงงานข้ามชาติในประเทศ โดยมีประเด็นหลักดังต่อไปนี้

(1) สภาพปัญหาและความเป็นอยู่ สภาพการจ้าง สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติ

(2) สำรวจความต้องการการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในประเทศ และ

(3) สำรวจจำนวนกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อายุมากกว่า 55 ปี ผู้ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน และไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

เพื่อให้สามารถกำหนดการจัดหางานให้กับแรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสม ชัดเจน โดยโครงการสำรวจข้อมูลดังกล่าว ให้จ้างงานบัณฑิตย์จบใหม่ องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้สูงอายุในชุมชน

ข้อที่ 3 ให้กระทรวงแรงงานส่งเสริมการจ้างงานโดยไม่มีการกีดกันด้วยเหตุแห่งวัย และสอดคล้องกับความต้องการของแรงงานผู้สูงอายุ และจัดสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับแรงงานวัยอื่นๆ

ข้อที่ 4 ให้สำนักงานประกันสังคมจัดทำระบบคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องมีความโปร่งใส  และเปิดเผยข้อมูลและให้ผู้ประกันตนได้ตรวจสอบในการจัดซื้อจัดจ้าง

ข้อเสนอต่อกระทรวงการคลัง

ข้อที่ 1 ให้ขยายเวลามาตรการเยียวยา 5,000 บาท ต่อจนถึงสิ้นปี 2563 และครอบคลุมประชาชนทุกคน ดังนี้

  • แรงงานไทย แรงงานชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือนที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนประกันว่างงาน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ให้สามารถได้รับเงินเยียวยาจำนวน 5 พันบาทได้เลยโดยเช็คจากระบบฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม ไม่ต้องมีการลงทะเบียนอีก
  • นักศึกษาที่ต้องทำงานเพื่อหารายได้ในการเลี้ยงดูตนเอง การศึกษาเล่าเรียน รวมถึงการเลี้ยงดูบิดา มารดา
  • คนงานทำงานอิสระและทำงานนอกระบบ

ข้อที่ 2 ให้เพิ่มเงินสวัสดิการในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในอัตราที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ โดยให้มีอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน เดือนละ 3,000 บาท

ข้อที่ 3 ให้เพิ่มเงินสวัสดิการแก่ครอบครัวที่มีเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี ในอัตราที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ โดยให้มีอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาท

ข้อที่ 4 ให้กำหนดมาตรการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ได้แก่ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ตให้กับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างทั่วถึง และครอบคลุมถึงกลุ่มที่ต้องเช่าที่พักอาศัย ทั้งคนไทย แรงงานข้ามชาติ และแรงงานชาติพันธุ์ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

ข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข

ข้อที่ 1 ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดงบประมาณสำหรับการตรวจเชื้อโควิด 19 ให้กับทุกคนที่ต้องการตรวจ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ  

ข้อที่ 2 ให้มีโครงการการตรวจและดูแลรักษาฟรี “ด้านสุขภาพจิตของประชาชน” ในโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมทั่วประเทศ เพราะปัจจุบันมีคนเป็นโรคซึมเศร้าและมีแนวโน้มฆ่าตัวตายมากขึ้น

ข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ

ข้อที่ 1 ให้ลดค่าธรรมเนียม ค่าบำรุงการศึกษา อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ และเพิ่มเงินอุดหนุนค่าอุปกรณ์สำหรับการเรียน ชุดนักเรียน นักศึกษา ให้กับนักเรียน นักศึกษาทุกระดับชั้น ทั้งในระบบและนอกระบบ

ข้อที่ 2 ให้จัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาจ่ายคืนค่าเช่าห้องพักของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในระหว่างที่มีการสั่งปิดการเรียนการสอน

ข้อที่ 3 ให้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการเรียนการสอน และค่าจ้างครูผู้สอนในสถานศึกษาของแรงงานข้ามชาติ  

 

 

ข้อเสนอต่อรับาล

มาตรการระยะสั้นเร่งด่วน

ข้อ 1 ให้มีนโยบายเร่งด่วนจัดให้มีการขึ้นทะเบียนรอบใหม่สำหรับแรงงานข้ามชาติกลุ่มต่อไปนี้ (1) กลุ่มแรงงานที่มีอายุ 55 ปี ผู้ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ (2) กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่นายจ้างไม่ยื่นเนมลิสต์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 

โดยต้องลดค่าใช้จ่ายสำหรับการขอใบอนุญาตทำงาน การขอวีซ่า การตรวจสุขภาพ ลงอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับค่าตรวจสุขภาพให้เรียกเก็บปีต่อปี

และในระหว่างการผ่อนปรนเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนรอบใหม่ ให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานได้โดยให้ยกเว้นเงื่อนไขการทำงานผิดประเภท ทำงานผิดนายจ้าง และทำงานผิดสถานที่ทำงานทั้งนี้เนื่องจากในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 แรงงานข้ามชาติมีความจำเป็นต้องทำงานที่อาจจะไม่ตรงกับประเภทงาน หรือนายจ้างที่กำหนดในบัตรเพื่อให้มีรายได้สามารถดำรงชีพอยู่ได้

ข้อ 2 ให้มีมาตรการในการสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยการเพิ่มสินเชื่อ ลดภาษี ลดการผ่อนชำระ เพื่อให้สถานประกอบการต่าง ๆ สามารถฟื้นฟูกิจการได้อย่างรวดเร็ว มีการจ้างงานมากขึ้น

ข้อ 3 ให้แก้ไขกฤษฎีกาให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำนาญชราภาพได้ทันที

ข้อ 4 รัฐต้องดูแลและออกมาตรการให้ชัดเจนเกี่ยวกับการพักชำระหนี้ โดยจะต้องเท่าเทียมกัน ไม่มีการกำหนดเกณฑ์การชำระหนี้ที่แตกต่างกัน และยกเลิกดอกเบี้ยในระหว่างวิกฤติโควิด 19 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนอย่างแท้จริงและให้ทุกธนาคารนำไปปฏิบัติ  

มาตรการระยะยาว

ด้านประกันสังคม

ข้อ 1 รัฐต้องนำเงินมาคืนกองทุนประกันสังคมเพื่อทดแทนเงินที่จ่ายกรณีว่างงาน 62 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงวิกฤตโรคระบาดไวรัสโควิด -19 เพื่อสร้างเสถียรภาพของกองทุนให้มีความมั่นคง

ข้อ 2 ขอให้สำนักงานประกันสังคมตรวจสอบสถานประกอบการต่าง ๆ อย่างเข้มงวดเพื่อให้นำลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคม

ข้อ 3 ขอให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการให้นายจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้กับแรงงานข้ามชาติ ณ. ศูนย์ขึ้นทะเบียนแรงงาน เมื่อมีการเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติทุกครั้ง

ข้อ 4 ให้มีการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมดังต่อไปนี้ (1) ให้เป็นองค์กรอิสระโดยการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในการบริหารจัดการ (2)เปิดให้แรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในทุกอาชีพสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา  33 (3)ปรับแก้เงื่อนไขให้เกิดสิทธิได้ทันทีเมื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม  และ (4)ขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในมาตรา  40 ให้สอดคล้องตรงกับความต้องการของผู้ประกันตน

ด้านการคุ้มครองแรงงาน

ข้อ 1 แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 ให้คนทำงานทุกกลุ่มทุกอาชีพทั้งในโครงสร้างการทำงานหรือนอกโครงสร้างการทำงาน ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้

ข้อ 2 ให้แก้ไขนิยาม “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็น “ค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ”  เพื่อให้แรงงานและครอบครัวสามารถดำรงชีพได้อย่างมีคุณภาพ

ข้อ 3 ให้แก้ไขนิยามของ “งาน” และ “แรงงาน” ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย รวมถึงรูปแบบการทำงานที่มีความหลากหลายในการจ้างงาน เช่น การจ้างแบบชิ้น (gig worker) เพื่อให้ แรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย เช่น แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานทำงานบ้าน ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียมกับแรงงานในระบบ และสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน

ข้อ 4 ให้รัฐบาลขยายแหล่งที่มาของรายได้ในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยให้จัดเก็บเงินจากนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย และ ให้แก้ไขระเบียบการจ่ายเงินชดเชยของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างโดยกำหนดการจ่ายเงินชดเชยตามจำนวนเท่ากับที่ลูกจ้างควรพึ่งได้รับตามกฎหมาย เพื่อเป็นการคุ้มครองลูกจ้างในกรณีมีการเลิกจ้างหรือการปิดกิจการของนักลงทุน

ข้อ 5 ให้กระทรวงแรงงานมีนโยบายให้สามารถจ้างงานเยาวชนนักเรียนข้ามชาติที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี  ทำงานในช่วงระหว่างปิดเทอมเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีงานทำ มีรายได้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของครอบครัว

ข้อ 6 รัฐบาลไทยต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน

ด้านรัสวัสดิการ

ข้อ 1 ให้รัฐจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย เช่น  เด็กเล็กอายุ 0-6 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มคนไร้บ้าน ผู้ดูแลบ้าน กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น กลุ่มคนไม่มีสถานะทางทะเบียนที่อยู่ในประเทศไทย และ แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

ข้อ 2 ให้รัฐดำเนินการคืนที่ดินที่ยึดจากประชาชนให้กับประชาชน และจัดสรรที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน