เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990  เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศและทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ต้องอพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทางให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใด ๆ  ซึ่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาประเทศสหรัฐฯได้ตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) สาเหตุจากการที่รัฐไทยไม่คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทางเครือข่ายจะได้นำเสนอปัญหาของคนงานแก่ภาครัฐ

ในโอกาสนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานส่งเสริมสิทธิด้านแรงงาน กว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่และตัวแทนคนงานในพื้นที่ ได้จัดกิจกรรมวัฒนธรรมวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ณ. ลานวัฒนธรรมเทศบาลสุเทพ (บ้านสันลมจอย) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้คนงานทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนและมีการเสวนา “คุณค่าของคนงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและการมีส่วนร่วมในชุมชน” จากกิจกรรมพบว่าคนงานยังสะท้อนถึงปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ  เวลาทำงาน  วันทำงาน วันหยุด วันลา ต่าง ๆ  การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด ก็ยังไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด  และมีปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมเนื่องจากนายจ้างไม่ได้นำลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคม  

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา  และส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับคนทำงานทุกสาขาอาชีพจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการดังต่อไปนี้

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย

  1. ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน 
  2. ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดให้พนักงานบริการ คนงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ โดยไม่เลือกปฏิบัติ
  3. ขอให้รัฐบาลไทยกำหนดให้การแก้ไขปัญหาด้านแรงงานข้ามชาติเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านแรงงานอย่างแท้จริงไม่ใช่มองปัญหาของแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ และต้องส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติมีความมั่นคงในการทำงาน
  4. เพื่อเป็นการลดอคติและสร้างทัศนคติที่ดีต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ขอให้รัฐบาลแก้ไขคำว่า “แรงงานต่างด้าว” ในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เป็น “แรงงานข้ามชาติ”  
  5. ขอให้รัฐบาลไทยมีแนวทางปฏิบัติการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในปี 2563 โดยให้มีการกำหนดวิธีการ ขั้นตอนการดำเนินการที่สั้น ง่าย ใช้เอกสารน้อย  ลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง และไม่เก็บค่าตรวจสุขภาพล่วงหน้า
  6. ขอให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางปฏิบัติตามอนุสัญญา ILO 181 ว่าด้วยบริษัทจัดหางานเอกชน ตามมาตรา 7 บริษัทนายหน้าต้องไม่คิดค่าบริการใดๆ จากคนงานไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม 
  7. ขอให้รัฐบาลไทยออกนโยบายให้แรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม สามารถทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน และขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี
  8. ขอให้รัฐบาลไทยมีนโยบายให้กลุ่มแรงงานที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เลขหัว 6, 7, 0 ให้สามารถเดินทางได้ทั่วประเทศโดยไม่ต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่และไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน
  9. ขอให้ระบบประกันสุขภาพต้องครอบคลุมทุกโรค โดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุที่ไม่มีเอกสารบุคคล โดยเฉพาะโรคเฮสไอวี
  10. ขอให้รัฐบาลไทยเปิดขึ้นทะเบียนผู้ติดตามเด็กที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นผู้สูงอายุ
  11. ขอให้รัฐบาลไทยมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการในด้านต่าง ๆ แก่แรงงานข้ามชาติ จัดให้มีล่ามแปลภาษาและจัดทำป้ายแนะนำขั้นตอน ป้ายบอกสถานที่ต่าง ๆ เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติเพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาใช้บริการหรือร้องเรียน
  12. ขอให้สำนักงานประกันสังคมแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินประกันสังคมใน 3 กรณี ดังนี้

o สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ให้จ่ายตั้งแต่วันแรกที่ว่างงานจนถึงวันก่อนที่จะได้งานทำใหม่ 

o สิทธิประโยชน์กรณีทุพลภาพ ให้จ่ายเงินชดเชยเป็นก้อนครั้งเดียว  

o สิทธิประโยชน์กรณีกองทุนชราภาพให้แก้ไข กฤษฎีกา ให้แรงงานข้ามชาติที่มีความประสงค์ที่จะกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากทุนชราภาพทั้งก้อนได้ทันที

ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน

  1. คณะกรรมการค่าจ้างต้องนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล มาใช้เป็นหลักการการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันสภาวะค่าครองชีพที่มากขึ้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 450 บาทต่อวัน เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูตนเองและคนในครอบครัวได้อย่างน้อยสามคน  
  2. ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของคนงาน ในประเด็นสิทธิการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง โดยไม่เลือกปฏิบัติโดยเชื้อชาติ และสัญชาติ
  3. ขอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้ารับการพัฒนาฝีมือแรงงาน และได้รับประกาศนียบัตร เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพและปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน
  4. ขอให้กระทรวงแรงงานมีนโยบายให้สามารถจ้างงานเยาวชนนักเรียนข้ามชาติที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี  ทำงานในช่วงระหว่างปิดเทอมเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีงานทำ มีรายได้ และได้มีประสบการณ์ในการทำงานและเรียนรู้สังคมมากขึ้น
  5. ขอให้กระทรวงพิจารณาและลงนามในข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารการทำงานของคนต่างด้าว กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้มีการพิจารณาแก้ไข

ข้อเรียกร้องต่อสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

  1. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาดูแลให้แรงงานข้ามชาติที่กลับไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้เข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ เช่นทางทะเบียนราษฎร์ ทางการศึกษา สุขภาพและอาชีวอนามัย และสิทธิพลเมือง
  2. ขอให้รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ยอมรับเอกสารซีไอ โดยให้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการทำบัตรประชาชนเมียนมา  สามารถเพิ่มชื่อในสำมะโนครัว  รวมถึงมีนโยบายให้สถานฑูต และสถานกงสุลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย สามารถทำพาสปอร์ต PJ  ออกหนังสือรับรองความเป็นโสดของประชาชนเมียนมา และทำบัตรประชาชนได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมาที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย 

จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการโดยเร่งด่วน

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ