- รายละเอียด
- หมวด: โครงการ
- ฮิต: 1225
โครงการสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึง(Right For All : RFA)
โครงการสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึง มุ่งเสริมสร้างศักยภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติและผู้อพยพจากประเทศเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทย ที่มักถูกมองข้ามหรือถูกตีตราไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน และผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทั้งทางร่างกายและจิตใจ โครงการฯ สนับสนุนเด็ก เยาวชน และผู้หญิงให้เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิเบื้องต้นและสร้างศักยภาพให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ การศึกษา และบริการต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยโครงการนี้จะทำงานในพื้นที่เชียงใหม่และแม่สอด
เกี่ยวกับโครงการ
ด้วยสาเหตุของสภาพการเมืองและเศรษฐกิจอันย่ำแย่ในประเทศเมียนมาทำให้ประชาชนเมียนมาจำนวนมากรวมทั้งครอบครัวต้องอพยพมายังประเทศไทย บางคนก็เลือกที่จะมาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในชีวิต แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเดินทางมา พวกเขาต้องเผชิญกับอันตรายและความยากลำบากต่างๆ ในการดำรงชีวิตและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย พวกเขามีความเปราะบางในการถูกเลือกปฏิบัติ กีดกัน และเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด ผู้หญิงจำนวนมากจากประเทศเมียนมาถูกกระทำความรุนแรงในทุกขั้นตอนของการเคลื่อนย้าย ตั้งแต่อยู่ในประเทศเมียนมา ระหว่างการเดินทางอพยพมายังประเทศไทย ตลอดจนการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพอยู่ในประเทศไทยหรือการเดินทางกลับประเทศ กลุ่มเด็กและเยาวชนข้ามชาติมีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ เนื่องจากนโยบายที่ไม่สอดคล้อง เช่น อายุการเข้าสู่ตลาดแรงงาน การเข้าถึงการศึกษา และเอกสารของพ่อแม่ เป็นต้น ครอบครัวมีความจำเป็นในการเข้าถึงบริการหรือเอกสารที่จำเพาะ เช่น สูติบัตร หรือวุฒิการศึกษา ดังนั้นทางโครงการสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึงจึงเน้นการให้ข้อมูล การช่วยให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามเข้าถึงบริการและการอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งการเสริมพลังและสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้หญิง ตระหนักถึงสิทธิและสามารถปกป้องตนเองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ
กิจกรรมของโครงการ
โครงการการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างผู้หญิง (WE)
โครงการการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างผู้หญิงเป็นเครือข่ายสำหรับเด็กหญิงและผู้หญิงที่ทำงานอยู่ตามชายแดนไทย-เมียนมา ที่จะได้มาพบปะกันเดือนละหนึ่งครั้งในแต่ละพื้นที่ และตัวแทนกลุ่มผู้หญิงจากพื้นที่ต่างๆ ได้มาพบปะกันทุกปีเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยจะมีประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจ รวมทั้งหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การวางแผนครอบครัว ความรุนแรงต่อผู้หญิง และสิทธิผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีการอบรมแกนนำผู้หญิงในชุมชนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงอีกด้วย ซึ่งการจัดการประชุมพบกลุ่มแลกเปลี่ยนของผู้หญิงประจำเดือนเดิมทีนั้นได้ริเริ่มขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นรวมกลุ่มกันของผู้หญิงจากชาติพันธุ์ต่างๆ ได้มาพูดคุยบอกเล่าสถานการณ์และร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน ต่อมาแนวคิดนี้แพร่หลายไปตามแนวชายแดน ทำให้ผู้หญิงอพยพและผู้ลี้ภัยได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มของตนเองขึ้นมา โดยการประชุมแลกเปลี่ยนนี้ผู้หญิงได้ระบุว่าการใช้ความรุนแรงเป็นหนึ่งในความกังวลหลักของพวกเขา ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาคู่มือกลไกอัตโนมัติในการสนับสนุนผู้เสียหายกรณีเกิดความรุนแรงต่อแรงงานข้ามชาติหญิง (ARM: Automatic Response Mechanism) เพื่อให้กลุ่มผู้หญิงได้ใช้เป็นแนวทางในการทำงานในพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง
โครงการการศึกษาและเอกลักษณ์ประจำตัวบุคคล (EI)
โครงการการศึกษาและเอกลักษณ์ประจำตัวบุคคลมีพยายามที่จะปกป้องสิทธิของเด็กและเยาวชนข้ามชาติ โดยส่งเสริมให้ได้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนไทยตามที่รัฐบาลไทยมีนโยบายการศึกษาสำหรับทุกคนหรือ “Education for All” โครงการมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนข้ามชาติผ่านโอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นและให้พวกเขามีสิทธิที่จะประกอบอาชีพตามทักษะความสามารถได้โดยเน้นทำงานร่วมกันกับผู้ปกครองและโรงเรียน นอกจากนี้โครงการยังมุ่งหนุนเสริม สร้างศักยภาพ และสนับสนุนเยาวชนข้ามชาติในการพัฒนาเครือข่ายและรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิของตนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายต่อไป
โครงการเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนข้ามชาติ (MYE)
โครงการเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนข้ามชาติมุ่งเข้าถึงเด็กและเยาวชนข้ามชาติเพื่อให้ข้อมูลและเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการเข้าถึงการศึกษา ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิทธิทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และการปกป้องจากการถูกล่วงละเมิดการเอารัดเอาเปรียบและความรุนแรงรูปแบบต่างๆ โดยโครงการมีการให้ข้อมูลผ่านลงพื้นที่ การอบรมเชิงปฏิบัติการในชุมชน และการบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เช่น การคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัว นอกจากนี้ทางโครงการยังมุ่งพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนข้ามชาติให้สามารถกระจายข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้ในชุมชนของตนเองต่อไปได้ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น ทำคลิปวิดีโอและออกรายการวิทยุ
โครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการและความคุ้มครองของแรงงานหญิงข้ามชาติ (S&A)
โครงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการและความคุ้มครองของแรงงานข้ามชาติหญิงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้การย้ายถิ่นของแรงงานมีความปลอดภัยและยุติธรรมสำหรับผู้หญิงทุกคนในภูมิภาคอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แรงงานหญิงข้ามชาติได้รับความคุ้มครองที่ดีขึ้นโดยการกำกับดูแลการย้ายถิ่นของแรงงานที่คำนึงถึงประเด็นเพศสภาพ และคุ้มครองแรงงานหญิงข้ามชาติให้ปราศจากความรุนแรงและการค้ามนุษย์ อีกทั้งได้รับบริการความช่วยเหลือที่มีคุณภาพ และส่งเสริมข้อมูลความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับสิทธิและคุณูปการของแรงงานหญิงข้ามชาติ โดยแรงงานหญิงข้ามชาติมีความเสี่ยงที่จะประสบกับความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวและความมีรุนแรงทางเพศ ซึ่งพวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงบริการและความคุ้มครองจากหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา การขาดข้อมูลถึงสิทธิของผู้เสียหาย และการกีดกัน ทางโครงการฯ จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำข้อตกลงแนวปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองแก่แรงงานหญิงข้ามชาติที่ประสบความรุนแรงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถจัดบริการและความคุ้มครองที่ตอบสนองตามความต้องการเฉพาะด้านของแรงงานหญิงข้ามชาติ เช่น บริการล่าม การให้คำปรึกษา การส่งต่อเคส และการให้บริการด้านสุขภาพ
โครงการสนับสนุนยามวิกฤต
โครงการสนับสนุนยามวิกฤตภายใต้โครงการสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึงให้การสนับสนุนแรงงานข้ามชาติเด็กและผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ โดยจะมีการให้บริการเบื้องต้น เช่น การให้ให้บริการล่าม ให้คำปรึกษา ประสานความช่วยเหลือกับเครือข่ายและหน่วยงานให้บริการด้านสุขภาพและกฎหมาย และให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน รวมทั้งการติดตามเยี่ยมเยียนเพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้กับแรงงานเมื่อประสบกับสถานการณ์ยากลำบาก