วันที่18ธันวาคมของทุกปีองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล” (International Migrants Day) ซึ่งเป็นวันที่อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 ได้รับการรับรองโดยองค์สหประชาชาติเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญและคุณูปการต่อการพัฒนาทั้งประเทศต้นทาง ประเทศระหว่างทาง และประเทศปลายทางของแรงงานข้ามชาติ และเพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ด้วยหลักการที่ตระหนักถึงสิทธิและการได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใด ๆ ต่อแรงงานข้ามชาติ จากรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
 
ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติจากประเทศต่าง ๆ เดินทางย้ายถิ่นเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงาน 4 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ทั้งที่ทำงานโดยมีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายกว่า 2 ล้านคน และกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานตามกฎหมายอีกกว่า 1 ล้านคน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตด้านเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย แต่ทว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่กลับยังไม่ได้รับสิทธิและเข้าไม่ถึงการปกป้องคุ้มครองตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานกำหนด เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน
 
เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเผชิญอยู่ในปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลไทยต้องดำเนินการเชิงรุกในการกำหนดความคุ้มครองทางกฎหมายและมุ่งเน้นให้เกิด การเคารพ สิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติด้วย ดังนี้
 
1. ปรับค่าจ้างตามหลักการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรมทุกปี และกำหนดให้เป็นค่าจ้างแบบถ้วนหน้าเท่ากันทั้งประเทศ
 
2. เร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILOฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน
 
3. ปฏิรูประบบประกันสังคมโดยกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกสัญชาติ ทุกอาชีพจะต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ และผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม
 
4. รับรองสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานที่มีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายภายใต้ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันและสร้างความคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างแท้จริง เช่น แรงงานไรเดอร์ แรงงานพนักงานบริการ แรงงานสร้างสรรค์ แรงงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี แรงงานข้ามชาติ และสร้างความคุ้มครองแรงงานทุกคนที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
 
5. รัฐบาลต้องยกเลิก พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
 
6. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานหญิงโดยกำหนดให้การลาหยุดเนื่องจากเป็นวันที่มีประจำเดือนเป็นวันลาที่ได้รับค่าจ้าง และกำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการที่ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงได้ฟรี
 
7. ส่งเสริมและสร้างหลักประกันการเข้าถึงการจ้างงานและความคุ้มครองแรงงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
 
8. ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศเมียนมา รัฐบาลไทยควรยุติการกักขังและบังคับส่งกลับทั้งแรงงานและผู้อพยพลี้ภัยจากประเทศเมียนมาอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงการอนุญาตให้อยู่อาศัย ทำงาน เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการเดินทาง โดยเร่งด่วน
 
ด้วยความสมานฉันท์
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
17 ธันวาคม 2566