แรงงานข้ามชาติหญิงนับแสนคนในประเทศไทยคือ กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่า รัฐบาลไทยจะให้ออกกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองแรงงาน แต่แรงงานข้ามชาติหญิงยังเผชิญกับปัญหาการการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ถูกกระทำความรุนแรงในหลายรูปแบบ และไม่ได้รับสิทธิครบถ้วน

ไม่เพียงเท่านั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังส่งผลให้แรงงานข้ามชาติหญิงตกอยู่ในภาวะเปราะบางมากขึ้น อันเนื่องจากการถูกลดเวลาการทำงาน การลดค่าตอบแทน และการถูกเลิกจ้าง แรงงานข้ามชาติหญิงส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ และมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของรัฐได้เฉกเช่นแรงงานไทยทั่วไป อันเนื่องจากนโยบายและมาตรการด้านการจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐขาดเอกภาพ บุคคลากรภาครัฐที่มีความเข้าใจบริบททางสังคม ภาษาและวัฒนธรรมของชุมชนแรงงานข้ามชาติมีไม่เพียงพอ และมีงบประมาณจำกัด จนเป็นเหตุให้การดำเนินงานเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไร้ประสิทธิภาพ

ในโอกาสสำคัญของวันสตรีสากล พ.ศ.2564 นี้ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติหญิงซึ่งมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 20 ปีของโครงการ WE GET TOGETHER และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิแรงงานหญิงและสิทธิเด็ก ขอเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

  1. บูรณาการกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นหนึ่งเดียว ลดความซับซ้อนยุ่งยาก และค่าใช่จ่ายต่างๆ ในการขึ้นทะเบียนแรงงานและต่ออายุใบอนุญาตในการทำงานของแรงงานข้ามชาติ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริตและเลี่ยงกฎหมายของนายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐ
  2. บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องเจตนารมย์ของกฎหมาย ได้แก่ การจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาที่เป็นธรรม การกำหนดจำนวนวันลาโดยได้รับค่าตอบแทน การจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
  3. สนับสนุนการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติ สิทธิแรงงาน และพัฒนาช่องทางเพื่อส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงกลไกการร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิแรงงาน การคุกคามและการใช้ความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงและเด็ก
  4. จัดบริการบ้านพักฉุกเฉินและให้ความคุ้มครองแก่แรงงานข้ามชาติหญิงและเด็กที่ถูกละเมิดและใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศโดยไม่มีเงื่อนไข
  5. หน่วยงานปกครอง และเจ้าหน้าที่นายทะเบียนราษฎร์ในท้องที่นั้น รับแจ้งเกิดบุตรของแรงงานข้ามชาติ และออกสูติบัตรให้โดยไม่มีเงื่อนไข

“เพื่อความเปลี่ยนแปลงเรากล้าท้าทาย”

ประกาศเจตนารมณ์และข้อเรียกร้องโดยเครือข่ายแรงงานข้ามชาติหญิง และองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อสิทธิผู้หญิงและเด็ก