เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990  เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศและทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ต้องอพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทางให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใด ๆ 

ในโอกาสนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับเครือข่ายสถานะบุคคล และสถาบันการศึกษา ได้ร่วมกันจัดเวทีระดมสภาพปัญหา และจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเผชิญอยู่ในปัจจุบันซึ่งต้องนอกจากเรื่องการคุ้มครองทางกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ยังต้องมุ่งเน้นให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

ข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

  • ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อกำหนด และดูแลนโยบายที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ภายในปี 2564

 

ข้อเสนอต่อรัฐบาล

  • ให้รัฐบาลจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย เช่น เด็กเล็กอายุ 0-6 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มคนไร้บ้าน ผู้ดูแลบ้าน กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น กลุ่มคนไม่มีสถานะทางทะเบียนที่อยู่ในประเทศไทย และ แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น
  • ขอให้รัฐบาลยกเลิก พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เนื่องจากเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้แรงงานภาคบริการไม่สามารถเข้าถึงการคุ้มครองด้านสิทธิแรงงานได้
  • ขอให้รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือกับทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยไม่เลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งการถือสัญชาติทีแตกต่าง

 

ข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงาน

  • ขอให้ออกกฎกระทรวงขยายอายุการทำงานของแรงงานข้ามชาติ เป็น 60 ปี
  • ขอให้ออกกฎกระทรวงที่กำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และมีแนวทางในการตรวจสอบ ติดตามนายจ้างให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้กับลูกจ้างตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเข้มงวดและจริงจัง
  • ขอให้เร่งจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลให้มีการแก้ไขพระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว ปี 2561 ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตนโดยด่วน
  • ขอให้ออกประกาศให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับอาชีพ (2) งานช่างก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานช่างก่อสร้างอาคาร ตามบัญชีประเภทที่3 ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ให้เก็บเพียงรายการเดียวครอบคลุมตาม (2)
  • ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดแนวทางปฏิบัติโดยให้มีการอบรมอาชีพที่เหมาะสม ให้กับแรงงานทุกภาคส่วนทั้งแรงงานไทย แรงงานผู้สูงอายุ แรงงานผู้พิการ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ โดยระหว่างที่อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีค่าเบี้ยเลี้ยงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลังจากที่จบการอบรมแล้วให้ออกใบรับรองการผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปใช้ในการปรับค่าจ้างตามระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานได้
  • ขอให้กระทรวงแรงงานเสนอและผลักดันให้รัฐบาลเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน ภายในปี 2564
  • ให้กระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงให้สามารถจ้างงานเยาวชนนักเรียนข้ามชาติที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี ทำงานในช่วงระหว่างปิดเทอมเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีงานทำ มีรายได้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของครอบครัว โดยให้ดำเนินการออกกฎกระทรวงภายในปี 2564
  • ขอให้กระทรวงแรงงานดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 ให้คุ้มครองคนทำงานทุกกลุ่มทุกอาชีพ อาทิ พนักงานบริการ คนงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี โดยต้องดำเนินการยกร่างภายในปี 2564 และต้องมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการยกร่าง

 

ข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการการแรงงานของสภาผู้แทนราษฎร

  • ขอให้ดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขนิยามของ “งาน” และ “แรงงาน” ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย รวมถึงรูปแบบการทำงานที่มีความหลากหลายในการจ้างงาน เช่น การจ้างแบบชิ้น (gig worker) เพื่อให้ แรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย เช่น แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานทำงานบ้าน ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียมกับแรงงานในระบบ และสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน
  • ขอให้ดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับปแกไระเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำนาญชราภาพได้ทันที
  • ขอให้มีการแก้ไขพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2561 ให้คุ้มครองสิทธิ สอดรับกับสถานการณ์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วม

 

ข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข

  • ขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบการซื้อบัตรประกันสุขภาพของผู้ติดตามที่มีอายุตั้งแต่ 7-18 ปี ให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ในราคาเท่ากับผู้ติดตามที่เป็นเด็ก และออกกฎกระทรวงให้แรงานข้ามชาติที่อายุเกิน 55 ปี และอาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้

ข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ

  • ขอให้มีประกาศกระทรวงศึกษา ให้เด็กนักเรียน นักศึกษา ที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ให้สามารถเข้าถึงทุนการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยขอให้ออกประกาศกระทรวงศึกษาดังกล่าวให้แล้วเสร็จ และประกาศใช้ไม่เกินปี 2564
  • ขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเพื่อทำบันทึกข้อตกลงระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย กับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมา ให้มีระบบการเทียบโอนและสามารถต่อยอดความรู้ระหว่าง 2 ประเทศได้

ข้อเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย

  • เร่งรัดการจัดทำทะเบียนประวัติกำหนดเลขประตัวประชาชน 13 หลักให้กับเด็กนักเรียนกลุ่มรหัสตัวอักษร G โดยกำหนดเวลาให้เสร็จภายใน 90 วัน
  • ขอให้กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนให้บุตรที่เคยขึ้นทะเบียนผู้ติดตามแรงงานพ้นสภาพผู้ติดตาม และรายการทะเบียนราษฎรถูกจำหน่ายแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาให้จัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา 38 วรรคสอง ตาม พรบ. การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564
  • ขอให้มีนโยบายการขึ้นทะเบียนผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ ทุกกลุ่มที่ไม่สามมารถกลับประเทศต้นทางได้โดยเฉพาะ ลูกหลาน คู่สมรส บิดา มารดา
  • ขอให้มีโครงสร้างบริหารจัดการการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมาย โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการและหลักการบริหารราชการทางปกครองให้สอดคล้องกับจำนวนกลุ่มเป้าหมาย.
  • ขอให้พัฒนาระบบการติดตามผลการยื่นคำร้องขอกำหนดสถานะบุคคลและการร้องเรียนร้องทุกข์กรณีการไม่ได้รับความเป็นธรรมโดยเฉพาะการเรียกรับผลประโยชน์
  • ขอให้ดำเนินการให้กลุ่มบุคคลที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้วทุกประเภทให้สามารถเดินทางภายในราชอาณาจักร
  • ขอให้เสนอต่อต่อคณะรัฐมนตรีให้มีมติคณะรัฐมนตรีให้กลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนประเภท (0-89) ที่เดินทางเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยครบ 10 ปีมีสิทธิขออยู่อาศัยถาวรได้ และ กระจายอำนาจมาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติ
  • ขอให้มีคำสั่งแนวทางในการแก้ไขหลักฐาน เอกสารทางทะเบียนที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง หรือ ขัดแย้งกัน ให้สะดวกและรวดเร็ว
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมและภาคี เครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานและบันทึกความร่วมมือ จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมทั้งในระดับอำเภอและจังหวัดโดยมีกฎกระทรวง มติคณะรัฐมนตรี หรือระเบียบกฎหมายรับรอง.

ข้อเสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ

  • ขอให้จัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านสิทธิและสถานะบุคคลคนที่มีสถานภาพทางกฎหมายทั้งระบบโดยมีภาคประชาสังคม นักวิชาการ ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม
  • ขอให้ทบทวน แก้ไข พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ 2522 และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนเข้าเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
  • ขอให้มีนโยบายการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยทั้งที่อยู่อาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวและในเมืองให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิเป็นไปตามมาตรฐานหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคม

  • ขอให้ออกกฎกระทรวงให้แรงงานข้ามชาติที่ถือเอกสารถูกต้องทุกคนสามารถทำใบขับขี่ได้โดยเร่งด่วน