เนื่องด้วยมีการประกาศในเวทีการประชุมเรื่องอนุสัญญา ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน ที่ประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศสมัยที่ 100 เมื่อปี พ.ศ. 2554 ให้วันที่ 16 มิถุนายน เป็น วันแม่บ้านสากล ซึ่งนับแต่นั้นมา ลูกจ้างทำงานบ้านหลายประเทศจะจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของลูกจ้างทำงานบ้าน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของลูกจ้างทำงานบ้าน รวมถึงสิทธิอันชอบธรรมที่ลูกจ้างทำงานบ้านสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ และที่สำคัญลูกจ้างทำงานบ้านเป็นกลุ่มแรงงานที่มีบทบาทเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างรายได้และเศรษฐกิจทั้งในระดับครัวเรือน และระบบเศรษฐกิจภาพรวม ซึ่งผู้คนในสังคมมักไม่เห็นแง่มุมในคุณค่าของลูกจ้างทำงานบ้านในด้านนี้
ปัจจุบันลูกจ้างทำงานบ้านยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำให้ประสบปัญหาการทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน ไม่แน่นอน ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ขาดอิสรภาพในการติดต่อกับสังคมภายนอก ถูกล่วงละเมิดทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับลูกจ้างทำงานบ้านตลอดมา
กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านจังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ จึงขอใช้โอกาส วันที่ 16 มิถุนายน ที่ถูกกำหนดให้เป็นวันแม่บ้านสากล ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยสิทธิในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน และดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้านโดยเร็วที่สุด
2. ขอให้รัฐบาลเร่งกำหนดนโยบายให้ลูกจ้างทำงานบ้านให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในวาระเร่งด่วนที่สุดขอให้ปรับปรุงกฎกระทรวงคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านให้ครอบคลุมสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้านในเรื่องดังต่อไปนี้
2.1 เวลาทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากเกินกว่านั้น ให้นายจ้างจ่ายเป็นเงินค่าล่วงเวลาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
2.2 มีเวลาพักในระหว่างเวลาทำงาน ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง
2.3 ได้รับค่าจ้างอย่างน้อยตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
2.4 ได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยไม่น้อยกว่า 30 วัน ต่อปี
2.5 มีสิทธิได้หยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันโดยได้รับค่าจ้าง
2.6 ได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี
2.7 สามารถลากิจธุระอันจำเป็นโดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 3 วัน ต่อปี
2.8 ลูกจ้างทำงานบ้านหญิงสามารถใช้สิทธิลาคลอดได้ครั้งละ 98 วันโดยได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 45 วัน
2.9 นายจ้างต้องไม่เลิกจ้างลูกจ้างทำงานบ้านหญิงที่ตั้งครรภ์ทุกกรณี
2.10 ให้ผู้หญิงมีสิทธิลาป่วยระหว่างมีประจำเดือน 3-5 วัน โดยไม่รวมอยู่ในสิทธิการลาป่วยอื่นๆ
3. ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยูด้วยเข้าสู่ระบบประกันสังคม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
จึงเรียนมาด้วยความเคารพและโปรดพิจารณาดำเนินการโดยเร็ว
กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านจังหวัดเชียงใหม่
มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์