การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติหญิงที่ทำงานในทุกสาขาอาชีพ เช่นลูกจ้างที่ทำงานบ้าน ในโรงแรมและงานที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม การท่องเที่ยว ภาคบริการ ร้านขายของ ร้านอาหาร โรงงานอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม พวกเธอส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวันและมีรายได้ลดลงเนื่องจากสถานที่ทำงานปิดกิจการชั่วคราว หรือบางคนไม่มีรายได้เพราะตกงาน แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายเท่าเดิมหรือมากกว่าเนื่องจากยังคงต้องจ่ายค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนมค่านมลูก ค่าของใช้ส่วนตัวเช่นผ้าอนามัย และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างค่าอินเตอร์เน็ตเพื่อใช้สำหรับการเรียนออนไลน์ของลูก

ภาระความรับผิดชอบของพวกเธอมิใช่เพียงหาเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงดูคนในครอบครัวของตนเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเงินไปให้พ่อและแม่ที่อยู่ประเทศบ้านเกิด แค่ประคองให้ตนและครอบครัวอยู่ให้ได้ในช่วงวิกฤตนี้ก็ถือว่ายากลำบาก บางครอบครัวอยู่ได้โดยการพึ่งการช่วยเหลือและของบริจาค แต่เพื่อความอยู่รอด พวกเธอต้องทำงานทุกอย่างเพื่อให้มีรายได้ ทั้งๆ ที่ทราบว่าอาจถูกจับและถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทำงานผิดประเภท ผิดนายจ้าง แต่หากไม่ทำแล้วพวกเธอจะทำอย่างไร

เพราะการช่วยเหลือเยียวยาของประเทศไทยจำกัดไว้เพียง “คนไทย” เท่านั้น และหมดหวังกับการเข้ามาช่วยเหลือของประเทศบ้านเกิด
นอกจากนี้ยังพบว่ามีสถานการณ์การกีดกัน การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในหลายรูปแบบ อาทิ แรงงานข้ามชาติหญิงไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นธรรม เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารด้วยข้อจำกัดทางภาษา ไม่มีสถานที่พักพิง (Safe House) เมื่อถูกกระทำความรุนแรงหรือจำเป็นต้องพักรักษาตัว รวมถึงลูกของแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม

การทำงานของพนักงานบริการยังคงถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีว่าเป็นการทำงานที่ผิดกฎหมาย และยังถูกสังคมตีตราว่าเป็นผู้ไร้ซึ่งศีลธรรมอันดีและต้องเผชิญหน้ากับการถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงการเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เมื่อถูกคุกคามทางเพศหรือถูกข่มขืน

ประเด็นปัญหาเหล่านี้มีรากฐานมาจากระบบอำนาจนิยม และวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ โดยถูกหล่อหลอมและปลูกฝังผ่านการทำงานของกลไกสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัวสถาบันการศึกษา สถาบันทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตของผู้หญิงทุกคน ทุกกลุ่ม เครือข่ายแรงงานภาคเหนือและเครือข่ายสตรีภาคเหนือ จึงขอใช้โอกาส วันที่ 8 มีนาคม “วันสตรีสากล” ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้


1. ขอให้รัฐบาลบูรณาการกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นหนึ่งเดียว ลดความซับซ้อนยุ่งยาก และลดค่าใช่จ่ายต่างๆ ในการขึ้นทะเบียนแรงงานและต่ออายุใบอนุญาตการทำงานของแรงงานข้ามชาติ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริตและเลี่ยงกฎหมายของนายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐ

2. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องเจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น การจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาที่เป็นธรรม การกำหนดจำนวนวันลาโดยได้รับค่าตอบแทน การจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน

3. ขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการสนับสนุนการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติ สิทธิแรงงาน และพัฒนาช่องทางเพื่อส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงกลไกการร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิแรงงาน การคุกคามและการใช้ความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงและเด็ก

4. ขอให้รัฐบาลจัดให้มีบริการบ้านพักฉุกเฉินและให้ความคุ้มครองแก่แรงงานข้ามชาติหญิงและเด็กที่ถูกละเมิด และถูกใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศโดยไม่มีเงื่อนไขในทุกจังหวัด

5. ขอให้รัฐบาลออกหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานปกครอง และนายทะเบียนราษฎร์ในทุกท้องที่ ให้รับแจ้งเกิดบุตรของแรงงานข้ามชาติ และออกสูติบัตรให้โดยไม่มีเงื่อนไข

6. ขอให้มีการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมโดยเร่งด่วน ในกรณีดังต่อไปนี้

6.1 ออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

6.2 ปรับปรุงเงื่อนไขการเกิดสิทธิในกองทุนประกันสังคม โดยให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม

6.3 แก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที

7. ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน

8. ขอให้รัฐบาลมีคำสั่งไปยังกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีการอบรมอาชีพแก่แรงงานข้ามชาติ โดยระหว่างที่อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีค่าเบี้ยเลี้ยงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลังจากที่จบการอบรมแล้วให้ออกใบรับรองการผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปใช้ในการปรับค่าจ้างตามระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานได้

9. ขอให้รัฐบาลเปิดขึ้นทะเบียนผู้ติดตามเด็กที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นผู้สูงอายุภายในปี พ.ศ. 2565

10. ขอให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และให้แก้ไข พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานภาคบริการ

11. การเยียวยาและการช่วยเหลือของประเทศไทยต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติสัญชาติ หรือสถานะบุคคล และประเทศไทยต้องมีการดำเนินการประสานงานกับประเทศต้นทางเพื่อให้มีการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
ติดต่อประสานงาน
ชัชชลาวัลย์ เมืองจันทร์
กองเลขาเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ โทรศัพท์ : 086 730 8851 อีเมล์ : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.