ปัจจุบันโควิด 19 ระลอก 3 ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงาน และคนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ต่างก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจึงขอใช้โอกาส วันที่ 1 พฤษภคม ที่ถูกกำหนดให้เป็นวันกรรมกรสากล ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
ข้อเรียกร้องข้อที่ 1 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ขอให้รัฐบาลมีการช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ดังนี้
1.1 จ่ายเงินเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทอย่างน้อย 3 เดือน โดยคนทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทั้งคนไทย แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย
1.2 ปรับเงื่อนไขการเกิดสิทธิใกรณีว่างงานในกองทุนประกันสังคม เพราะเหตุสุดวิสัยอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งจากที่นายจ้างปิดงานเอง หรือปิดจากคำสั่งของหน่วยงานรัฐ หรือต้องกักตัว ให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้เลย โดยไม่ต้องติดเงื่อนไขระยะเวลาในการส่งเงินสมทบ
1.3 ออกนโยบาย ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าอินเตอร์เน็ต ลง 50 เปอร์เซ็นต์ จนถึงสิ้นปี 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนทุกคนรวมถึงคนที่เช่าที่พักอาศัย อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
1.4 กำหนดให้มีการกระจายการตรวจโควิด 19 และฉีดวัคซีนป้องกัน อย่างทั่วถึงกับคนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ข้อเรียกร้องข้อที่ 2 ให้มีการปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน ในกรณีดังต่อไปนี้
2.1 ออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
2.2 ปรับปรุงเงื่อนไขการเกิดสิทธิในกองทุนประกันสังคม โดยให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม
2.3 แก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที
ข้อเรียกร้องข้อที่ 3 ขอให้ดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขนิยามของ “งาน” และ “แรงงาน” ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย รวมถึงรูปแบบการทำงานที่มีความหลากหลายในการจ้างงาน อาทิ การจ้างงานแบบชิ้น (gig worker) เพื่อให้ แรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย เช่น แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ลูกจ้างทำงานบ้าน คนทำงานแบบชิ้น (gig worker) ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน
ข้อเรียกร้องข้อที่ 4 รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาการจ้างงานยืดหยุ่น เสี่ยง และไม่มั่นคง (precarious work) โดยเฉพาะการจ้างงานบนแพลตฟอร์มที่บริษัทพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง โดยรัฐต้องไม่ตีความแรงงานแพลตฟอร์มเป็นคนงานอิสระหรือแรงงานนอกระบบตามที่บริษัทพยายามกล่าวอ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการหมวดหมู่สถานะจ้างงานผิดประเภท (misclassification)
ข้อเรียกร้องข้อที่ 5 ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 190 ว่าด้วยการต่อต้านความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน ภายในปี 2564
ข้อเรียกร้องข้อที่ 6 ขอให้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ในระยาว เป็นแผน 5 ปี หรือ 10 ปี โดยให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และแก้ไขพระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว ปี 2561ในประเด็นต่อไปนี้
6.1 ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน
6.2 ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี
6.3 ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีการอบรมอาชีพแรงงานข้ามชาติ โดยระหว่างที่อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีค่าเบี้ยเลี้ยงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลังจากที่จบการอบรมแล้วให้ออกใบรับรองการผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปใช้ในการปรับค่าจ้างตามระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานได้
6.4 ให้แรงงานข้ามชาติสามารถขึ้นทะเบียนแรงงานได้ตลอดโดยลดค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอน และเอกสารเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ
6.5 เปิดขึ้นทะเบียนผู้ติดตามเด็กที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นผู้สูงอายุ
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
ติดต่อประสานงาน
ปสุตา ชื้นขจร
กองเลขาเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ โทรศัพท์ : 086 916 5541, e-mail :