เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2567 กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันแม่บ้านสากล ขึ้น ณ โรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้น จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสัญลักษณ์ในการร่วมพลังเพื่อเรียกร้องสิทธิลูกจ้างทำงานบ้าน โดยในงานมีกิจกรรมต่างๆ คือ การแสดงทางประเพณีวัฒนธรรม การแสดงจากกลุ่มเยาชนไทใหญ่ ละครสะท้อนปัญหา  เรียนรู้เรื่องอนุสัญญาฉบับที่ 189 และเชิญเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาให้ความรู้ กฎกระทรวงฉบับที่ 15 เรื่องการคุ้มครองแรงงานทำงานบ้าน


วันที่ 16 มิ.ย. ของทุกปี ถิอเป็น วันแม่บ้านสากล   ลูกจ้างทำงานบ้านหลายประเทศจะจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของลูกจ้างทำงานบ้าน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของลูกจ้างทำงานบ้าน รวมถึงสิทธิอันชอบธรรมที่ลูกจ้างทำงานบ้านสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ และที่สำคัญลูกจ้างทำงานบ้านเป็นกลุ่มแรงงานที่มีบทบาทเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างรายได้และเศรษฐกิจทั้งในระดับครัวเรือน และระบบเศรษฐกิจภาพรวม 


ปัจจุบันลูกจ้างทำงานบ้านยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายเรื่อง อาทิ ลูกจ้างทำงานบ้านยังไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมได้ และเมื่อประสบอุบัติเหตุจากการทำงานก็ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน นอกจากนี้ยังไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้เพื่อสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างตามกระบวนการแรงงานสัมพันธ์


กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านจังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ จึงขอใช้โอกาส วันที่ 16 มิถุนายน ที่ถูกกำหนดให้เป็นวันแม่บ้านสากล  ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ผ่านเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

  1. ขอให้รัฐบาลให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 189 ว่าด้วยสิทธิในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน และดำเนินการปรับปรุงกฎหมายหมาย กฎกระทรวง ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้านโดยเร็วที่สุด
  2. ขอให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จากผ้าอนามัย และต้องจัดให้มีการแจกผ้าอนามัยฟรีให้ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อแก้ปัญหาความจนประจำเดือน (Period Poverty) ที่ส่งผลเสียอย่างอื่นตามมา และกำหนดให้ลูกจ้างทำงานบ้านหญิงมีวันหยุดพิเศษเดือนละ 2 วันในช่วงที่มีประจำเดือน โดยได้รับค่าจ้าง
  3. ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดให้ลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วยเข้าสู่ระบบประกันสังคม และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
  4. ขอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีการอบรมอาชีพแก่ลูกจ้างทำงานบ้าน โดยระหว่างที่อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีค่าเบี้ยเลี้ยงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลังจากที่จบการอบรมแล้วให้ออกใบรับรองการผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปใช้ในการปรับค่าจ้างตามระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานได้