ด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันกรรมกรสากล”ซึ่งเป็นวันที่คนทำงานทั่วโลกได้ร่วมกันรำลึกและยกย่องเชิดชูการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของคนทำงาน ร่วมส่งเสริมสิทธิอันชอบธรรมที่คนทำงานสมควรได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ และเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนทำงานทุกอาชีพในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ขณะที่รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ของคนทำงานกลับยังไม่เข้าใกล้การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติการการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญกับการถูกเลิกจ้าง การถูกลดเวลาทำงานจากมาตรการป้องกันโรคของรัฐ และการเจ็บป่วยเนื่องจากเข้าไม่ถึงการป้องกันโรคซึ่งสาเหตุเหล่านี้มีผลต่อรายได้ที่ลดลง วิกฤตการณ์ดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อคนทำงานแต่ยังส่งผลต่อครอบครัวของคนทำงานอีกด้วย ขณะที่ไม่มีการเยียวยาและมาตรการช่วยเหลือคนทำงานอย่างเหมาะสมและทั่วถึงจากรัฐบาล นอกจากนี้ ยังพบว่าการละเมิดสิทธิแรงงานที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นนับแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อาทิ การไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเดิมค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันแทบไม่พอให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ การไม่ได้รับค่าจ้างในการทำงานในวันหยุดวันลา ทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจและไม่ได้ค่าตอบแทนตามกฎหมายกำหนด มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน นายจ้างละเมิดสัญญาจ้างงาน รวมถึงไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมคุณค่าต่อการทำงานและความคุ้มครองคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับคนทำงานทุกสาขาอาชีพจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้
1. รัฐต้องรับรองสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานที่มีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายภายใต้ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันและสร้างความคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างแท้จริง เช่น แรงงานแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ แรงงานพนักงานบริการ แรงงานสร้างสรรค์ แรงงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น และแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน
2. รัฐต้องกำหนดให้แรงงานที่เป็นลูกจ้างในทุกกิจการต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมโดยไม่มีข้อยกเว้น และผู้ประกันตนทุกคนสามารถใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกข้อได้ทันที โดยปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมอย่างเร่งด่วน ในกรณีดังต่อไปนี้
2.1 ออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
2.2 ปรับแก้เงื่อนไขการเกิดสิทธิในกองทุนประกันสังคม โดยให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม
2.3 แก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที
2.4 กำหนดเพิ่มเติมให้แรงงานข้ามชาติสามารถลงคะแนนเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม และสามารถเป็นผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เพื่อเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมได้
3. รัฐต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นไปตามหลักการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอต่อคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงาน และกำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปีในอัตราที่สอดคล้องกับระดับค่าครองชีพโดยคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อ + 3 เปอร์เซ็นต์ของอัตราค่าจ้าง และต้องเป็นค่าจ้างแบบถ้วนหน้าเท่ากันทั่วประเทศ
4. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO และดำเนินการต่อเนื่องหลังรับรองอนุสัญญา ดังนี้
4.1 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และดำเนินการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเร่งด่วนเพื่อให้แรงงานทุกภาคส่วนมีอิสระในการรวมตัวจัดตั้ง หรือเข้าร่วม และการต่อรองกับนายจ้างด้วยการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่กระทบต่อการจ้างงาน
4.2 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานทำงานบ้านและดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้านโดยเร็วที่สุด และต้องมีกลไกเพื่อคุ้มครองลูกจ้างแรงงานทำงานบ้านให้ได้รับสิทธิ และสวัสดิการ โดยเฉพาะลูกจ้างทำงานบ้านที่ทำงานในบริเวณที่พักอาศัยของนายจ้างจะต้องได้รับการจัดหาที่พักและอาหารที่สะอาด ถูกหลักสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยและทำให้แรงงานได้พักผ่อนเพียงพอและมีศักยภาพในการทำงาน
4.3 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ว่าด้วยเรื่องการรับงานไปทำที่บ้าน
5. รัฐต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบและเป็นนโยบายระยะยาว 5 – 10ปีที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน การไม่เลือกปฏิบัติ เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการอนุญาตให้อยู่ในประเทศ โดยให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนกับประเด็นดังต่อไปนี้
5.1 แรงงานข้ามชาติสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานได้ด้วยตนเองได้โดยไม่มีการปิดกั้นและดำเนินการได้ตลอดทั้งปี โดยกำหนดระเบียบขั้นตอนการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติที่ไม่ซับซ้อน ใช้เอกสารและค่าใช้จ่ายน้อย และมีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS) ที่เปิดให้บริการตลอดทั้งปี เพื่อลดการพึ่งพานายจ้างและนายหน้าซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางอ้อมของการขึ้นทะเบียนและขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติได้
5.2 รัฐต้องกำหนดกลไกหรือมาตรการที่ทำให้เกิดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการอาศัยอยู่ในประเทศของแรงงานข้ามชาติ เพื่อส่งเสริมสิทธิและการปกป้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ
5.3 กำหนดบทลงโทษนายหน้าหรือนายจ้างที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานที่นอกเหนือจากกฎหมายกำหนด
5.4 กำหนดระยะเวลาของใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติและการต่อวีซ่าให้สอดคล้องกับอายุของหนังสือเดินทาง หรือเอกสารบุคคลของแรงงานข้ามชาติ
5.5 ขยายอายุการจ้างแรงงานข้ามชาติจนถึงอายุ 60 ปี และขยายการเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพตามอายุการจ้างงาน
5.6 แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานได้ตามทักษะความสามารถ และวุฒิการศึกษา การอนุญาตทำงานมีความยืดหยุ่น ไม่จำกัดประเภทงาน และไม่ต้องขึ้นอยู่กับนายจ้างเพียงคนเดียว โดยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานกับนายจ้างอื่นนอกเวลาทำงานที่ระบุตามใบอนุญาตทำงานได้ เช่น แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคเกษตรสามารถทำงานไปก่อสร้างในช่วงระหว่างการดูแลรักษาเพื่อรอการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือแรงงานก่อสร้างสามารถไปทำงานเป็นลูกจ้างในตลาดได้ระหว่างที่นายจ้างกำลังหางานก่อสร้างแห่งใหม่
5.7 ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ โดยการปรับอัตราค่าประกันสุขภาพผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติที่อายุไม่เกิน 18 ปี เป็นอัตรา 365 บาท/ปี/คน เนื่องจากยังมีสถานะเป็นเด็กเยาวชนและไม่มีรายได้ และต้องเข้าถึงการได้รับบริการสุขภาพทุกแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุด โดยไม่จำกัดเพียงสถานพยาบาลที่ระบุในบัตรประกันสุขภาพ โดยแรงงานข้ามชาติต้องไม่ถูกทวงถามสิทธิก่อนการรักษา และได้รับการรักษาโดยไม่บ่ายเบี่ยง
5.8 ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางท้องถนนซึ่งสามารถป้องกันได้และเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น โดยกรมการขนส่งทางบกและกระทรวงแรงงาน ประสานความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกให้แรงงานข้ามชาติสามารถขอใบขับขี่และต่อใบขับขี่ได้อย่างสะดวก ใช้เอกสาร และระยะเวลาดำเนินการสั้น
5.9 ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิการศึกษาอย่างเท่าเทียมและต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเทียบโอนผลการเรียนของนักเรียนระหว่างประเทศไทย – เมียนมาร์ที่ชัดเจน
5.10 ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ถูกจับปรับหรือคุมขังโดยอำเภอใจ และไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน
5.11 ผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการปรับสถานะบุคคลได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยสร้างมาตรการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้เวลาสั้น และโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
6. รัฐต้องยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
7. รัฐต้องส่งเสริมการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานโดยไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เชื้อชาติ สุขภาพ ความพิการ และอายุ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานต้องจัดการอบรม การทดสอบ และออกหนังสือรับรองสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมและผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานทุกคน เพื่อให้แรงงานสามารถนำมาใช้ยื่นขอปรับเพิ่มค่าจ้างจากนายจ้าง และรัฐต้องมีกลไกตรวจสอบว่านายจ้างได้มีการสนับสนุนการพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือของแรงงานและปรับขึ้นค่าจ้างตามความสามารถตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เชื้อชาติ สุขภาพ ความพิการ และอายุ
8. รัฐต้องสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้กับแรงงานทุกภาคส่วน โดยการสร้างระบบบริการพื้นฐานถ้วนหน้า ได้แก่ การจัดให้มีขนส่งสาธารณะพื้นฐาน รถไฟทุกอำเภอ รถเมล์ทุกตำบล ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดภาระค่าใช้จ่ายที่แรงงานต้องแบกรับ การจัดตั้งกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ สำหรับการกู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำ ที่สามารถเข้าถึงง่าย และครอบคลุมทุกกลุ่มสาขาอาชีพ และสวัสดิการอื่นๆที่จะทำให้แรงงานทุกภาคส่วนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
9. รัฐต้องส่งเสริมให้นายจ้างและสถานประกอบการให้ความสำคัญกับสวัสดิการแรงงาน โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็กในสถานประกอบการ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยให้แก่เด็กเยาวชนลูกแรงงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่แรงงาน โดยไม่มีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ
10. รัฐต้องกำหนดมาตรฐานด้านสุขภาพ ความปลอดภัยของแรงงานแต่ละอาชีพ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของแรงงานเป็นสำคัญ หน่วยงานที่ดำเนินการตรวจสอบต้องไม่เน้นเพียงเฉพาะอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น และต้องมีกลไกการร้องเรียนหากนายจ้างใช้แรงงานนอกเหนือจากสัญญาจ้างแรงงานและกำหนดบทลงโทษ เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานทุกภาคส่วนจะได้รับความคุ้มครองและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ อาชีพแพทย์ต้องทำงานไม่เกิน 60 ชม.ต่อสัปดาห์ แรงงานสร้างสรรค์ต้องได้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์หรือ 32 ชั่วโมง แรงงานทำงานบ้านมีเวลาการทำงานและหน้าที่ที่ชัดเจน
11. รัฐต้องส่งเสริมและสร้างหลักประกันการเข้าถึงการจ้างงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และความคุ้มครองแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยกำหนดมาตรการการจ้างงาน และสภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ไม่แบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นมิตรต่อแรงงานผู้มีความหลากหลาย เช่น ห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ และนำพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
12. รัฐต้องส่งเสริมสิทธิสุขภาพของแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยกำหนดสวัสดิการการผ่าตัดแปลงเพศฟรี การลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศถือเป็นวันลาที่ได้รับค่าจ้าง
13. รัฐต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากการคุกคาม ทำร้ายร่างกาย หรือถูกกระทำรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) และการเตรียมเพื่อล่วงละเมิดทางเพศ (Grooming) และเพิ่มบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิด
14. รัฐธรรมนูญต้องระบุคำว่า “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” เพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ทางกฎหมายของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และส่งเสริมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในทุกมิติ อาทิ การเข้าถึงกองทุนและการสนับสนุนของรัฐ เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
15. รัฐต้องสนับสนุนพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และยกเลิกระเบียบที่ละเมิดสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ ยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยใช้ระบบสมัครใจ การไม่รับบริจาคเลือดจากผู้มีความหลากหลายทางเพศของสภากาชาด
16. รัฐต้องกำหนดมาตรการที่ทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ทำงานประเภทไม่เต็มเวลาหรืออยู่ในระหว่างฝึกงานตามหลักสูตร ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และได้รับความคุ้มครองในฐานะแรงงานโดยไม่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติ
จึงเรียนมาเพื่อดำเนินการโดยเร่งด่วน
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ