ข้อเสนอกรณีการตรวจจับแรงงานข้ามชาติ กิจการก่อสร้างในความผิดทำงานผิดประเภท

เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายกรัฐมนตรี
สืบเนื่องกระทรวงแรงงานมีมติเห็นชอบกำหนดอาชีพสงวนใหม่ให้แรงงานต่างด้าวทำงานได้ 12 อาชีพ 3 รูปแบบ คือ

  1. แบบไม่มีเงื่อนไข 1 อาชีพได้แก่ กรรมกร
  2. แบบมีเงื่อนไข คือต่างด้าวที่เป็นลูกจ้าง เป็นงานที่ขาดแคลนแรงงาน อนุญาตให้ทำได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นไม่กระทบโอกาสการทำงานของคนไทย 8 อาชีพคือ 1. กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรือประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญเฉพาะสาขาควบคุมดูแลฟาร์ม 2. ก่ออิฐ ช่างไม้ หรือก่อสร้างอื่น 3. ทำที่นอนหรือผ้าห่มนวม 4.ทำมีด 5.ทำรองเท้า 6.ทำหมวก 7. ประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8. ปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา
  3. แบบมีเงื่อนไขตามข้อตกลงระหว่างประเทศอาเซียน แต่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายไทย
    ทางกระทรวงแรงงานมีแผนประชาสัมพันธ์จะเร่งตรวจ จับกุมแรงงานข้ามชาติที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ส่งผลให้ช่วงต้นปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจ จับกุม แรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างในกิจการก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่เป็นจำนวนมากโดยแจ้งต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างว่าแรงงานข้ามชาติทำงานผิดประเภทงาน เพราะว่าแรงงานข้ามชาติได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ในประเภทกรรมกร ซึ่งสามารถทำงานได้เฉพาะงานที่ไม่ใช้ทักษะอย่างเช่น ขุดหลุม ตัดเหล็ก หิ้วปูน เป็นลูกมือในการผสมปูน ยก แบก และหามเท่านั้น ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่พบว่าแรงงานข้ามชาติทำงานเกี่ยวกับการก่อ การฉาบ การปูกระเบื้อง การทาสี หรือแม้แต่กำลังผสมปูนอยู่ ก็จะดำเนินการจับกุมในข้อหาทำงานผิดประเภททันที อีกทั้งยังมีผู้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เข้าตรวจ จับกุม และเรียกรับเงินทั้งจากนายจ้างและลูกจ้าง เป็นจำนวนเงินสูงถึงหลายหมื่นบาทแทนการจับกุมตัว

จากกรณีปัญหาการตรวจ จับกุม แรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกจ้างในกิจการก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 ถึงปัจจุบัน โดยในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2561 ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างในกิจการก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก ซึ่งนายจ้างต่างมีความต้องการแรงงานก่อสร้างที่สามารถทำงานได้หลากหลาย ทั้งงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมืออาทิ งานก่อ งานฉาบ งานทาสี งานปูกระเบื้อง งานโครงสร้างต่าง ๆ และงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะฝีมือ ดังนั้นการห้ามแรงงานข้ามชาติทำงานบางส่วนในงานก่อสร้าง จึงส่งผลกระทบต่อนายจ้างเนื่องจากไม่สามารถหาแรงงานคนไทยเข้ามาทำงานได้ สร้างความเสียหายให้แก่นายจ้าง เพราะงานก่อสร้างต้องหยุดชะงักลงไม่สามารถส่งงานได้ตามกำหนดเวลา ในส่วนของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในกิจการก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากเช่นกัน เพราะจากการตรวจ จับกุมของเจ้าหน้าที่ ทำให้มีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในกิจการก่อสร้างถูกเลิกจ้างจำนวนมาก บางส่วนไม่สามารถเข้าถึงงานได้ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแรงงานข้ามชาติมีทักษะซึ่งตรงกับความต้องการของนายจ้าง บางส่วนถูกจับกุมและถูกผลักดันออกนอกประเทศ ในกรณีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ในประเทศไทยอาศัยอยู่ทั้งครอบครัว เมื่อพ่อแม่ถูกจับกุมในขณะทำงานและถูกส่งกลับทำให้ลูกไม่มีผู้ดูแลในประเทศไทย

จากกรณีปัญหาดังกล่าว เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับกลุ่มนายจ้าง ลูกจ้างในกิจการก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และนักวิชาการได้ร่วมกันจัดเวทีระดมปัญหา กรณีการตรวจจับแรงงานข้ามชาติในกิจการก่อสร้างข้อหาการทำงานผิดประเภท ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2562 และมีข้อเสนอดังนี้

  1. ขอให้รัฐบาลกำหนดนิยามของงาน “กรรมกร” ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์การจ้างงานปัจจุบัน โดยให้มีความหมายรวมถึงงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือบางอย่างที่สามารถทำได้ เช่น ในงานก่อสร้าง ให้สามารถทำงานก่อ งานฉาบ งานทาสี งานปูกระเบื้อง งานโครงสร้างต่าง ๆ ได้ งานขายของหน้าร้านให้สามารถรับเงิน –ทอนเงินได้ งานในร้านอาหารให้สามารถรับการสั่งอาหาร เก็บเงิน – ทอนเงินได้ งานในร้านเสริมสวยสามารถทำผม ทำเล็บ แต่งหน้า ได้เพราะปัจจุบันแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานกรรมกรในงานต่าง ๆ มีความสามารถ(ทักษะ)ในการทำงาน อันเนื่องมาจากประสบการณ์การทำงานมาอย่างต่อเนื่องจึงเกิดความชำนาญในการทำงานมากขึ้น
  2. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณาและลงนาม ในข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงการกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตาม มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารการทำงานของคนต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้มีการพิจารณาแก้ไข
  3. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการกำหนดนโยบายเฉพาะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการตรวจ จับกุมแรงงานข้ามชาติในกิจการก่อสร้างในระหว่างนี้ โดยให้เข้มงวดกับการออกตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีลักษณะจงใจตรวจ จับกุม เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ จากนายจ้าง และลูกจ้าง และขอให้มีการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยเร่งด่วน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข หรือดำเนินการใดๆ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาของทั้งผู้ประกอบการ แรงงานข้ามชาติ และเลี่ยงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในภาพรวม ระหว่างที่รอประกาศกำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มีการปรับปรุงแก้ไขเรียบร้อยแล้ว

 

ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ
ตัวแทนลูกจ้าง
ตัวแทนนายจ้าง